Pages

Wednesday, April 22, 2015

ประสบการณ์จากการเล่นเกมแบบไม่หลับไม่นอน และการค้นหาสาเหตุของปรากฏการณ์ "เล่นเกมไม่ยอมนอน"

sleeping boy and blanket
Image Source: https://www.flickr.com/photos/milele/6704923591

เคยใช่ไหมล่ะครับ กับการนอนดึกเกินเหตุ บางทีอาจจะเลยไปถึงเช้า เวลาคนว่าเรานอนดึกเราก็จะปฏิเสธไปว่า “ไม่ได้นอนดึก นอนเช้าเลยต่างหาก” ซึ่งสาเหตุก็มาจากหลายๆประการ แต่ที่ผมสังเกตกับตัวเอง แล้วก็สรุปว่าสาเหตุของการนอนดึกรวมๆแล้วเกิดจาก “ภาวะลื่นไหล (Flow State)” แต่ว่าที่มาของมันเป็นยังไงมายังไง ทำไมเราถึงเข้าสู่ภาวะแบบนี้ได้เวลาเล่นเกมกัน และนี่คือคำตอบสำหรับตัวของผมเองครับ
สำหรับใครที่ไม่แน่ใจหรือไม่เข้าใจว่าความลื่นไหลที่ผมกำลังหมายถึงเนี่ยมันคืออะไร ผมจะขอยกตัวอย่างสั้นๆ ให้ทุกคนลองนึกถึงสมัยเด็กๆ (อาจจะต้องเป็นคนที่ชอบทำการบ้าน) ตอนที่กำลังเรียนในคาบ คุณครูก็ได้สอนเนื้อหาวิชา และแน่นอนว่าช่วงกลางคาบหรือท้ายคาบก็เริ่มสั่งให้ทำแบบฝึกหัด (ที่กลายเป็นการบ้านในท้ายที่สุด) ในขณะที่เรากำลังทำแบบฝึกหัดอยู่อย่างเพลิดเพลินซึ่งเป็นช่วงเวลาที่หาได้ยากยิ่ง เพราะที่บ้านก็มีเกมมีการ์ตูนรอเราอยู่ แต่เราก็สนุกกับมัน ไม่ว่าเพื่อนๆจะชวนกลับบ้าน ไม่ว่าคุณครูจะไล่ให้กลับยังไง เราก็ยังฝืนจะพยายามทำให้ได้จนเสร็จ และปรากฎการณ์แบบนี้นั่นล่ะครับที่เรียกว่า “ภาวะลื่นไหล”
ผมเคยอ่านหนังสือเกี่ยวกับด้านการบริหาร/จิตวิทยา แล้วก็เจอเรื่องนี้เขียนไว้เหมือนกัน ในหนังสือได้พูดไว้ประมาณว่า ภาวะลื่นไหล จะทำให้การทำงานของเรามีผลิตภาพสูงขึ้น เราจะทำงานต่างๆได้ดีขึ้น อย่างเห็นได้ชัด และมีวิธีการที่ผ่านการวิจัยขึ้นมาว่าสามารถช่วยให้เราเข้าถึงภาวะดังกล่าวได้ง่ายขึ้น และมันก็ค่อนข้างนำมาใช้ได้กับเรื่องราวของการเล่นเกมเลยทีเดียว
เมื่อพูดถึงเกมที่ดีหรือที่สนุก เกมเหล่านี้ล้วนมีลักษณะที่ช่วยให้เราเข้าสู่ภาวะลื่นไหลได้ทั้งสิ้น องค์ประกอบแรกคือความท้าทาย ความท้าทายไม่ใช่แค่ว่ามีระดับความยากนะครับ แต่จะต้องเป็นการออกแบบระดับความยากให้เหมะาสม ดังนั้นเกมไหนที่ยากเกินไปก็ไม่มีความท้าทาย เพราะไม่ชวนให้ผู้เล่นพยายามที่จะแข่งขันและติดอยู่กับเรื่องราวในเกม ในขณะที่หากเกมง่ายเกินไป คนก็จะเบื่อและเลิกเล่นเช่นเดียวกัน เมื่อเกมมีระดับความท้าทายที่เหมาะสมจะทำให้เกิดองค์ประกอบที่สองตามมาคือการเรียนรู้และพัฒนาการ หรือความพยายามในการฝึกฝนและพัฒนาทักษะและฝีมือของตัวเองเพื่อเอาชนะความท้าทาย ความพยายามนี้จะทำให้เกิดความทุ่มเทและความตั้งใจต่อการเล่นเกม(การทำงาน)ซึ่งจะช่วยให้สามารถเข้าสู่ภาวะลื่นไหลได้ องค์ประกอบที่สามคือความน่าหลงใหล เกมที่มีความน่าหลงใหลจะช่วยดึงความสนใจของเราให้มุ่งมั่นอยู่ที่เป้าหมายหรืออยู่ที่สิ่งที่กำลังทำ ทุ่มเทเพื่อให้เกิดความสำเร็จ ซึ่งหากเรามีความมุ่งมั่น ตั้งใจ และทุ่มเทให้กับสิ่งใดมากๆ ก็จะทำให้เราเข้าใกล้ ภาวะลื่นไหล มากขึ้น
จากที่พูดถึงมานั้น ไม่ว่าจะเป็นเกมหรืองานใดๆ หากมีองค์ประกอบสามอย่างนี้ ก็จะช่วยให้คนเล่นหรือคนที่ทำงาน มีโอกาสเข้าสู่ภาวะลื่นไหลได้สูงกว่าเกมที่ไม่มีองค์ประกอบเหล่านี้ และเมื่อเข้าสู่ภาวะลื่นไหล ความสามารถในการทำงานก็จะเพิ่มสูงขึ้นมาก แต่ก็แลกมาด้วยแรงกายและแรงใจ รวมไปถึงเวลาอีกด้วย ทั้งนี้แม้ว่าเราอยู่ในภาวะลื่นไหลก็ใช่ว่าร่างกายของเราจะทนรับการใช้งานหนักติดต่อกันได้ แรกๆอาจจะไม่มีปัญหาอะไร แต่เมื่อเวลาผ่านไป ก็อาจจะส่งผลเสียให้เห็นเช่นกัน
ย้อนกลับมาที่การเล่นเกมแบบไม่หลับไม่นอนก็คือการที่เราอยู่ในภาวะลื่นไหลในการเล่นเกม จึงทำให้เรารู้สึกสนุกและติดพันกับการเล่นมากเสียจนทุ่มเทให้กับเกม เราอาจจะได้ความสนุก ความเมามันในช่วงแรกๆแต่เมื่อมีครั้งที่สองครั้งที่สาม โดยไม่มีการหยุดพัก ร่างกายของเราก็จะเริ่มส่งสัญญาณบอกให้เราต้องหลับเพื่อให้พักบ้างนั่นเอง ขนาดเครื่องจักรทำจากวัสดุอย่างดีใช้งานเรื่อยๆไม่หยุดพักมันก็ยังมีเสื่อมสภาพต้องมีการซ่อมแซมบำรุง ร่างกายคนก็เช่นเดียวกันต้องการการบำรุงส่วนที่สึกหรอ และกระบวนการนั้นสำหรับมนุษย์อย่างหนึ่งเลยก็คือ “การนอนหลับ”
สำหรับใครที่อ่านจนจบ ก็อยากแนะนำว่า ถ้าเป็นไปได้ก็อย่าโหมทำงานใดๆหนักจนเกินไป แบ่งเวลาในการพักผ่อนบ้าง เพื่อที่ช่วงเวลาแห่งการสร้างสรรค์จะยังคงเป็นเช่นนั้น ไม่ใช่เป็นเวลาแห่งการเสื่อมสภาพของร่างกายนะครับ หากเรารู้จักใช้ภาวะลื่นไหลอย่างเหมาะสม ก็จะช่วยให้ประสิทธิภาพในการทำสิ่งต่างๆของเราดีขึ้นและมีความสม่ำเสมอ พร้อมสุขภาพที่แข็งแรง สมองปลอดโปร่งครับ ขอฝากไว้เท่านี้

No comments:

Post a Comment